พระเดชพระคุณ พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙) อดีตพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระแห่งประเทศไทย (หลวงพ่อหนอ)

ประวัติโดยย่อ

พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙) อดีตพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระแห่งประเทศไทย อดีตรองอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

ชาติภูมิ

หลวงพ่อเกิดเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๔๖๑ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเมีย ที่บ้านหนองหลุบ ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น นามเดิมของหลวงพ่อคือ “หนูคล้าย” ภายหลังเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต “เฮง เขมจารีมหาเถร” วัดมหาธาตุฯ ได้เปลี่ยนชื่อให้ท่านใหม่ว่า “โชดก” นามสกุลของท่านคือ “นามโสม” บิดาชื่อ “เหง้า” มารดาชื่อ “น้อย” มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม ๑๐ คน โดยหลวงพ่อเป็นคนที่ ๖. บิดาของท่านเป็นชาวนา แต่มีความรู้พิเศษ เป็นช่างไม้ เป็นช่างเหล็กและเป็นหมอประจำหมู่บ้าน. ปู่ของท่านมีบรรดาศักดิ์เป็นขุน มีชื่อว่าขุนวงษ์ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านติดต่อกันหลายสมัยและมีฐานะค่อนข้างดี

การศึกษา

ในวัยเด็กท่านจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนบ้านหนองหลุบ ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ พออายุได้ ๑๕ ปีท่านก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดโพธิ์กลาง ได้เดินทางไปเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดกลาง ในตัวเมืองขอนแก่นและสอบนักธรรมตรีได้จากวัดนี้ และย้ายไปอยู่วัดยอดแก้ว ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เพื่อเรียนนักธรรมชั้นโท และบาลี มูลกัจจายน์ และสอบนักธรรมชั้นโทได้ ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้ย้ายมาอยู่ในกรุงเทพฯ โดยจำพรรษาอยู่วัดเทพธิดารามสอบได้ ป.ธ. ๓ ,ป.ธ.๔ และสอบนักธรรมชั้นเอกได้ในสำนักเรียนนี้ พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้ย้ายมาอยู่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และสอบ ประโยค ป.ธ. ๙ ได้ในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ซึ่งสอบได้เพียงผู้เดียวในประเทศไทย

การปฏิบัติศาสนกิจ

พ.ศ. ๒๔๙๓ ย้ายกลับเข้ามาอยู่วัดมหาธาตุ ในสมัยท่านเจ้าคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) ครั้งดำรงสมณะศักดิ์ที่ พระพิมลธรรม เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้อยู่ที่คณะ ๕ วัดมหาธาตุ และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะ ๕ วัดมหาธาตุ เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๔๙๓ และอยู่ประจำที่คณะ ๕ มาตลอดจนมรณภาพ

พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)

หน้าที่การงานเกี่ยวกับการศึกษา

พ.ศ. ๒๔๘๓ – ๒๔๓๐
-เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมทั้งนักธรรม-บาลี ในมหาธาตุวิทยาลัย ได้เป็นครูสอนบาลีไวยากรณ์ชั้นสูงมูล ๓ ได้นิตยภัตตั้งแต่เดือนละ ๖ บาท ใน พ.ศ. ๒๔๘๓ จนกระทั้งสอน ป.ธ. ๗-๘-๙ เป็นกรรมการตรวจประโยคนักธรรม-บาลี สนามหลวง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๗ ตลอดมาจนมรณภาพ
-เป็นผู้อำนวยการแผนกบาลี สำนักเรียนวัดมหาธาตุ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๖ เป็นต้นมา

หน้าที่เกี่ยวกับพระไตรปิฎก

พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย ในแผนกตรวจสำนวน พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจทานพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการปาลิวิโสธกะพระอภิธรรมปิฎก ฉบับสังคายนา พ.ศ. ๒๕๓๐ พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานบรรณกรในการพิมพ์พระไตรปิฎก ฉบับสังคายนา พ.ศ. ๒๕๓๐

พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙) อดีตพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระแห่งประเทศไทย

สมเด็จพระศรีนครินราบรมราชชนนี
ได้เสด็จมาสมาทานพระกรรมฐานกับพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธิมุนี ณ วัดมหาธาตุ เป็นเวลาถึง ๑ เดือน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘

งานด้านวิปัสสนาธุระ

พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้เข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอยู่ ณ มณฑปพระธาตุ วัดมหาธาตุ ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ถึง ๑๙ ตุลาคม ๒๔๙๔ รวมเวลา ๗ เดือน ๑๙ วัน โดยพระภาวนาภิรามเถระ (สุข) วัดระฆังเป็นอาจารย์สอน

พ.ศ. ๒๔๙๕ ไปดูการพระศาสนาที่ประเทศพม่า และได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ณ สำนักศาสนายิสสา เมืองอย่างกุ้ง ประเทศพม่า เมื่อสำเร็จการศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนาแล้ว ได้เดินทางกลับประเทศไทยพร้อมกับพระอาจารย์ด้านวิปัสสนากรรมฐาน ๒ รูป ทีรัฐบาลไทยขอจากรัฐบาลพม่าเพื่อมาสอนวิปัสสนากรรมฐาน ประจำอยู่อยู่ในประเทศไทย พระวิปัสสนาจารย์ ๒ รูปนั้น คือ ท่านอาสภเถระปธานกัมมัฏฐานาจริยะและท่านอินทวังสะ ธัมมาจริยะกัมมัฏฐานาจริยะ
เมื่อท่านกลับมาประเทศไทยแล้ว ท่านได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอยู่อีก ๔ เดือน ในสมัยนั้นท่านเจ้าประคุณเด็จพระพุฒาจารย์ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพิมลธรรม ได้ประกาศตั้งสำนักวิปัสสนาธรรมฐานแห่งประเทศไทย ขึ้นที่วัดมหาธาตุ และได้แต่งตั้งท่านครั้งเป็นพระมหาโชดก ป.ธ. ๙ ให้เป็นพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระเป็นรูปแรก ท่านได้รับภาระหนักมาก เพราะเป็นกำลังสำคัญของท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ในการวางแผนขยายสำนักสาขาไปตั่งในที่ต่างๆทั่วประเทศ จัดทำหลักสูตรวิปัสสนากรรมฐานคัดเลือกพระวิปัสสนาจารย์ไปสอนประจำอยู่ตามสำนักสาขาที่ตั้งขึ้นและจัดไว้สอนประจำที่วัดมหาธาตุ พระวิปัสสนาจารย์ทั่วประเทศ ส่วนมากเป็นศิษย์ของท่าน
อนึ่ง ในครั้งนั้น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ได้จัดตั้งกองกรวิปัสสนาธุระขึ้นเป็นศูนย์วิปัสสนากรรมฐาน ที่คณะ ๕ วัดมหาธาตุ และได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นผู้อำนวยการกองการวิปัสสนาธุระ ในความอำนวยการของท่าน มีกิจการเจริญก้าวหน้ามาก มีผลงานปรากฏ ดังนี้

๑. จัดพิมพ์วิปัสสนาสารซึ่งเป็นวารสารราย ๒ เดือน (ออกปีละ ๖ เล่ม) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๘ และได้ออกติดต่อ ตลอดมาถึงบัดนี้มีสมาชิกให้การอุดหนุนวารสารนี้มีมากพอสมควร

๒. จัดการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานขึ้นที่คณะ ๕ โดยจัดสร้างห้องปฏิบัติขึ้นรับผู้ประสงค์จะเข้าปฏิบัติ หรือผู้มีปัญหาชีวิต เข้าปฏิบัติได้ทุกเวลา ทั้งประเภทอยู่ประจำและไม่ประจำ (คือมารับพระกรรมฐานจากอาจารย์ไปปฏิบัติที่บ้านแล้วมารับสอบอารมณ์หรือมาปฏิบัติในเวลาว่างแล้วกลับไปพักที่บ้าน)

๓. อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาจารย์ และคณะศิษย์ของท่านได้ไปสอนวิปัสสนากรรมฐาน ในพระอุโบสถวัดมหาธาตุ ตึกมหาธาตุวิทยาลัย ตึกธรรมวิจัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทุกวันพระ และวันอาทิตย์

๔. ให้ความอุปถัมภ์สำนักวิปัสสนากรรมฐานอื่นที่เป็นสาขาอีกหลายสำนัก เช่น สำนักวิเวกอาคม อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา สำนักวิปัสสนาภูระงำ อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น และสำนักบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี เป็นต้น พระธรรมธีรราชมหามุนีนั้น ได้อุทิศชีวิตอบรมและเผลแพร่วิปัสสนากรรมฐานติดต่อมาเป็นเวลายาวนานประมาณ ๔๐ ปี จึงมีศิษยานุศิษย์และมีผู้เคารพศรัทธาเลื่อมใสมากทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศและบุคคลผู้มาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น มีทุกระดับชั้น ทุกฐานะอาชีพ

ครั้นช่วง พ.ศ. ๒๔๙๘ ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระอุดมวิชาญาณเถร ได้เป็นพระอาจารย์ถวายวิปัสสนากรรมฐานแด่สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (ปัจจุบัน คือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ซึ่งได้เสด็จมาสมาทานพระกรรมฐานเมื่อวันอังคารที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ เวลา ๑๙.๐๐ น. ณ พระมณฑปพระบรมธาตุ วัดมหาธาตุ

ในโอกาสนั้น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ครั้งดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์ทีพระพิมลธรรม ได้วายศีลแล้วพระอุดมวิชาญาณเถร เป็นผู้ถวายพระกรรมฐานและถวายสอบอารมณ์ พระกรรมฐานด้วย เป็นประจำทุกวัน ณ พระมณฑปพระบรมธาตุ เวลา ๑๙.๐๐ น. รวมเวลาที่ทรงปฏิบัติพระกรรมฐานเป็นเวลา ๑ เดือน และทรงได้รับผลจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นอย่างดี

นอกจากนั้น ได้เป็นอาจารย์ถวายวิปัสสนากรรมฐานแด่พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ) ซึ่งเป็นพระอาจารย์มีเกียรติคุณในด้านสมถกรรมฐาน (วิชาธรรมกาย) มีชื่อเสียงมากในประเทศไทย โดยท่านไปถวายวิปัสสนากรรมฐานแด่หลวงพ่อที่วัดปากน้ำตลอดเวลา ๑ เดือน ครบหลักสูตรและหลวงพ่อวัดปากน้ำได้มาฟังเทศน์ลำดับญาณ ณ พระอุโบสถวัดมหาธาตุ โดยพระอุดมวิชาญาณเถรได้ถวายเทศน์ลำดับญาณ ปรากฏว่าหลวงพ่อได้ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นอย่างดี เพราะท่านได้นำสมถกรรมฐานมาต่อวิปัสสนากรรมฐาน พิจารณาไตรลักษณ์ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ หลวงพ่อได้มอบภาพของท่านไว้เป็นที่ระลึกแก่สำนักวิปัสสนาวัดมหาธาตุ และได้เบียนบันทึกใต้ภาพยกย่องว่า “สำนักวิปัสสนากรรมฐาน เป็นสำนักที่สอนวิปัสสนาถูกต้องร่องรอยในมหาสติปัฏฐานทุกประการ”

หน้าที่เกี่ยวกับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๕๓๐
– ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการชำระหนังสือธัมมปทัฏฐกถา ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลย
– เป็นอาจารย์บรรยายวิชาพระพุทธศาสนาในชั้นอุดมศึกษา
– เป็นกรรมการบริหารกิจการ|
– เป็นกรรมการพิจารณาหลักสูตรบาลีสำหรับมหาจุฬาฯ
– เป็นรองประธานกรรมการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์
– เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย

พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙) อดีตพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระแห่งประเทศไทย
พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙) อดีตพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระแห่งประเทศไทย

หน้าที่เกี่ยวกับการบริหารงานคณะสงฆ์

พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๕๓๐
– ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการกรรมการสงฆ์จังหวัดขอนแก่น
– เป็นกรรมการสาธารฯณูปการจังหวัดขอนแก่น
– เป็นเจ้าคณะภาค ๑๐
– เป็นเจ้าคณะภาค ๙
– เป็นพระอุปัชฌาย์ประจำวัดมหาธาตุ
– เป็นรองเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ
– เป็นรองประธานกรรมการสงฆ์บริหารมหาธาตุ รูปที่ ๑

หน้าที่พิเศษ

-ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการหัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ ๓
-เป็นหัวหน้าผู้อำนวยการ งานพระธรรมทูตสายที่ ๖
-เป็นอนุกรรมการมหาเถรสมาคม เพื่อร่วมพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาวัดที่ว่างเจ้าอาวาสเพื่อหาข้อมูล

งานเผยแผ่

-เป็นพระธรรมกถึกทั้งเทศน์คู่และเทศน์เดี่ยว
-เป็นองค์ปาฐกแสดงปาฐกถาธรรม
-องค์บรรยายธรรมทางวิทยุเป็นประจำหลายสถานี
-บรรยายทางโทรทัศน์
นับว่าท่านเป็นพระสงฆ์มีความเชี่ยวชาญในการบรรยายธรรม ได้รับความนิยมมากจากผู้ฟังทั้งจากหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และประชาชนเป็นอย่างดี

พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙) อดีตพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระแห่งประเทศไทย

งานสาธารณูปการและงานสาธารณสงเคราะห์

พระธรรมธีรราชมหามุนี มีผลงานด้านงานสาธารณูปการและงานสาธารณสงเคราะห์ปรากฏอย่างกว้างขวาง ทั้งภายในวัดมหาธาตุ และภายนอกวัด ดังมีหลักฐานปรากฏตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๘-๒๕๓๐ ดังนี้

๑) งานสาธารณูปการภายในวัดมหาธาตุ
-จัดหาทุนสร้างห้องปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในวัดมหาธาตุ
-จัดหาเงินสมทบทุนมูลนิธิวิปัสสนากรรมฐาน
-สร้างตึกอุดมวิชาในคณะ ๕ วัดมหาธาตุ
-เป็นประธานกรรมการหาทุนก่อสร้างตึกมหาธาตุวิทยาลัยอาคารทรงไทย ๔ ชั้น
-เป็นประธานกรรมการหาทุนบูรณะโรงเรียนธรรมมหาธาตุวิทยาลัย และสร้างโรงครัวครูปริยัติธรรม
-เป็นประธานกรรมการจัดหาทุนและก่อตั้งมูลนิธิศรีสรรเพชญ์
-ร่วมสมทบบูรณะคณะ ๘ วัดมหาธาตุ ฯ
-บริจาคร่วมสร้างพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
-เป็นประธานกรรมการจัดหาทุนสร้างพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
-เป็นกรรมการอุปถัมภ์จัดหาทุนสร้างโรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย รวมงานสาธารณูปการภายในวัดมหาธาตุที่ได้ดำเนินการมาเป็นเงินประมาณ ๑๔,๓๒๕,๐๐๐.๐๐ บาท (สิบสี่ล้านสามแสนสองหมื่นห้าพันบาท)

๒) งานสาธารณูปการภายนอกวัด
– งานก่อสร้างปฏิสังขรณ์วัดสว่างพิทยา บ้านหนองหลุบ ซึ่งเป็นถิ่นบ้านเกิด
– จัดหาทุนสร้างโรงเรียนปริยัติธรรมวัดธาตุ ขอนแก่น ๒ หลัง
– จัดหาทุนสร้างอุโบสถวัดโพธิ์ชัย จังหวัดขอนแก่น
– จัดหาทุนสร้างโรงเรียนประชาบาลบ้านหนองหลุบ
– เป็นประธานจัดหาทุนสร้างวัดพุทธประทีปในระยะเริ่มแรก
– อุปถัมภ์สร้างอาคารเรียน ในโรงเรียนประชาบาลบ้านหนองบัว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
– เป็นประธานจัดหาทุนสร้างตึกสงฆ์อาพาธสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) ในโรงพยาบาลขอนแก่น
– บริจาคสร้างตึกสงฆ์สยามินทร์ โรงพยาบาลศิริราช
– อุปถัมภ์สำนักวิปัสสนากรรมฐาน ภูระงำ อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น
– หาทุนสร้างสำนักวิเวกอาคม ตำบลบางขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดเชิงเทรา รวมงานสาธารณูปการภายนอกวัด เป็นเงินประมาณ ๑๓,๔๕๖,๐๐๐.๐๐ (สิบสามล้านสี่แสนห้าหมื่นหกพันบาท) รวมเงินที่จัดหาในงานสาธารณูปการทั้งภายในวัดมหาธาตุ และภายนอกวัด เป็นเงินประมาณ ๒๗,๐๘๑,๐๐๐.๐๐ บาท (ยี่สิบเจ็ดล้านแปดหมื่นหนึ่งพันบาท)

วัดพุทธปทีป กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

งานต่างประเทศ

พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๕๒๘
– ไปดูพระศาสนาและปฏิบัติกรรมฐาน ณ ประเทศพม่า
– ไปสอนวิปัสสนากรรมฐาน ณ ประเทศอังกฤษตามคำอาราธนาของคณะสงฆ์สมาคมแห่งประเทศอังกฤษ – เป็นหัวหน้าพระธรรมทูตประจำประเทศอังกฤษ
– ริเริ่มสร้างวัดไทยในประเทศอังกฤษ ปัจจุบันได้สร้างเป็นวัดไทยโดยสมบูรณ์ ชื่อว่าวัดพุทธประทีป โดยท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุรูปแรก
– เป็นกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตที่จะไปต่างประเทศ
– ไปสอนวิปัสสนากรรมฐานที่วัดไทย ในสหรัฐอเมริกา
– รับชาวต่างประเทศปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่วัดมหาธาตุและให้ได้บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา

งานนิพนธ์

พระธรรมธีรราชมหามุนี เป็นพระมหาเถระเชี่ยวชาญแตกฉานในพระไตรปิฏกและมี ความทรงจำเป็นเลิศ สามารถบอกเรื่องราวต่างๆว่าอยู่ในเล่มใด และบางครั้งบอกหน้าหนังสือเล่มนั้นด้วย และท่านยังเป็นนักประพันธ์ ที่นิพนธ์เรื่องศาสนาได้รวดเร็ว และได้นิพนธ์ไว้มากมายหลายเรื่อง เฉพาะที่หาข้อมูลได้ แบะบทนิพนธ์ของท่านเป็นประเภทดังนี้
๑ ) ประเภทวิปัสสนากรรมฐาน มีหนังสือประมาณ ๒๑ เรื่อง เช่น เรื่องความเป็นมาของวิปัสสนากรรมฐาน คำบรรยายวิปัสสนากรรมฐาน จำนวน ๙ เล่ม
๒ ) ประเภทพระธรรมเทศนา มีหนังสือประมาณ ๔ เรื่อง เช่น เรื่องเทศน์คู่อริสัจ ฯลฯ
๓ ) ประเภทวิชาการ มีหนังสือประมาณ ๘ เรื่อง อภิธัมมัตถสังคหะปริเฉทที่ ๑-๙ ฯลฯ
๔ ) ประเภทสารคดี มีหนังสือประมาณ ๒๐ เรื่อง เช่น เรื่องพระมาลัยโปรดสัตว์นรก ฯลฯ
๕ ) ประเภทตอบปัญหาทั่วไป มีหนังสือประมาณ ๕ เรื่อง เช่น ตอบปัญหาเรื่องบุญบาปและนรกสวรรค์เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีคำขวัญ คำอนุโทนา คติธรรม เพื่อลงตีพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์ต่างๆ ที่มีผู้ขอมา

พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙) อดีตพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระแห่งประเทศไทย

สมณศักดิ์

  • วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๙๗ (อายุ ๓๖ พรรษา ๑๕ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเปรียญวิปัสสนาธุระที่ “พระอุดวิชาญานเถระ”
  • วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๐๕ (อายุ ๔๔ พรรษา ๒๓) ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ “พระราชสิทธิมุนี ศรีปิฏกโกศล วิมลวิปัสสนาจารย์อุดมวิชาญาณวิจิตรยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”
  • วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๓ (อายุ ๕๒ พรรษา ๓๑) ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ “พระเทพสิทธิมุนี สมถวิถีธรรมาจารย์ วิปัสสนาญาณโสภณ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”
  • วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐ (อายุ ๖๙ พรรษา ๔๘) ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศิกดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม มีพระราชทินนามว่า “พระธรรมธีรราชมหามุนี คัมภีรญาณวิมลโสภณธรรมานุสิฐตรีปิฏกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆารามคามวาสี”
พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙) อดีตพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระแห่งประเทศไทย

อวสานชีวิต

พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทธิ ป.ธ. ๙) ได้ถึงแก่มรณภาพ โดยอาการอันสงบ ในอิริยาบถนั่งเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ขณะไปทำการสอนวิปัสสนากรรมฐานที่บ้านโยมอุปัฏฐาก ในวันพฤหัสบดีที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๓๑ เวลา ๑๕.๐๐ น. รวมสิริอายุได้ ๗๐ ปี ๒ เดือน ๑๕ วัน นำความเศร้าโศก แสนเสียดายอาลัยมาสู่คณะสงฆ์ คณะศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนทั่วไปอย่างยิ่ง ขออำนาจบุญกุศลทั้งปวง ได้โปรดดลบันดาลให้พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ. ๙) ประสบสันติสุขในสัมปรายาภพทุกประการดังสุนทรโวหารที่ท่านได้นิพนธ์ในสุดท้ายแห่งชีวิตดังนี้

เตรียมสร้างทางชอบไว้ หวังกุศล ตัวสุขส่งเสริม เพิ่มให้ ก่อนแต่มฤยูดล เผด็จชีพ เทียวนา ตายพรากจากโลกได สถิตด้าว แดนเกษม